ประเด็นร้อน

คนไทยตื่นตัว ต้านโกงมากขึ้น

โดย ACT โพสเมื่อ Aug 29,2018

- - ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักข่าวไทย - -

 

โรงแรมดุสิตธานี 29 ส.ค.-องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ แถลงผลงาน 7 ปี ขยายเครือข่ายภาคสังคมและหน่วยงานอื่นมากขึ้น ขณะที่ประชาชนเริ่มตื่นตัว ไม่ยอมรับการโกง 


นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน(ประเทศไทย)  พร้อมด้วยนายวิเชียร พงศธร รองประธานและนายมานะ นิมิตมงคล เลขาธิการร่วมแถลงข่าว œ7 ปีองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) โดยนายประมนต์ กล่าวว่า จุดเริ่มต้นขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT คือต้องการต่อสู้กับคอรัปชั่น ร่วมกับภาคเอกชน และปัจจุบันได้กระจายไปสู่ภาคประชาสังคม ภาครัฐ และภาคประชาชน ขยายเครือข่ายทำงานไปมากกว่า 50 ส่วน จึงถือเป็นตัวแทนของประชาชนโดยสมบูรณ์ 


“ตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา ACT ได้ทำหน้าที่ปลุกกระแสขับเคลื่อนให้ประชาชนคนไทยร่วมเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านคอร์รัปชันที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน จากการสำรวจของหอการค้าไทยร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยในการแถลงดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชั่นไทยล่าสุดพบว่า ทัศนคติและจิตสำนึกต่อการทุจริตคอร์รัปชั่นของประชาชนเปลี่ยนแปลงไป ทั้งยังทนไม่ได้เมื่อพบเห็นการโกงและไม่ยอมรับคอร์รัปชั่นโดยสิ้นเชิง โดยร้อยละ 99 เห็นว่าคอร์รัปชั่นไม่ใช่เรื่องไกลตัวและไม่ยอมรับรัฐบาลที่เก่งมีผลงานดีเด่น แต่ทุจริต” นายประมนต์ กล่าว


นายประมนต์ กล่าวว่า สำหรับการดำเนินงานที่ผ่านมาขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ใช้ยุทธศาสตร์ 3 ป. คือ เปิดโปง ป้องกันและปลูกฝัง  โดยการทำงานในช่วงแรกระหว่างปีพ.ศ. 2554 - 2557 ได้ปลุกกระแสผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ คัดค้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรม การจัดอบรมหมาเฝ้าบ้านและการจัดทำหลักสูตร โตไปไม่โกง เป็นต้น โดยในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2557 - 2560 ได้ใช้ยุทธศาสตร์ทำงานร่วมกับรัฐบาล มีผู้แทนเข้าร่วมเป็น สภาปฏิรูปแห่งชาติ สภานิติบัญญัติแห่งชาติและคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ส่งผลให้ภาครัฐมีความจริงใจและให้ความร่วมมือ ภาคเอกชนมีส่วนร่วมมากกว่าที่ผ่านมา นำไปสู่การออกนโยบาย กฏหมาย ที่เอื้อต่อการปราบคอร์รัปชั่นได้อย่างรวดเร็วและเป็นระบบยิ่งขึ้น อาทิ ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการยุติธรรม การจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ให้ตัดสินนักโทษหนีคดีโดยไม่หมดอายุความ และการมีบทลงโทษเอกชนและประชาชนที่ให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐและผลักดันพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ พ.ศ. 2560 กำหนดให้ประชาชนมีส่วนร่วมตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐผ่านโครงการข้อตกลงคุณธรรมตั้งแต่ปี 2558 ถึงปัจจุบัน


“องค์กรร่วมผลักดันให้มีบทบัญญัติต่าง ๆ ในรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง พ.ศ.2560 ที่กำหนดให้ประชาชนมีส่วนร่วมตรวจสอบงานภาครัฐ ที่จะต้องได้รับความคุ้มครองด้วย และปรับปรุงโครงสร้างขององค์กรอิสระเกิดมาตรการลดคอรัปชันเชิงนโยบาย และตลอด 7 ปีที่องค์กรและภาคีเครือข่ายได้ผนึกกำลังต่อสู้กับการทุจริตคอร์รัปชั่น สร้างความเปลี่ยนแปลงให้สังคมไทยหลายประการ  รวมทั้งช่วยปลุกกระแสให้เห็นถึงความเลวร้ายของการโกงชาติ ทำให้คนไทยไม่ยอมทน กล้าออกมาเปิดโปงการทุจริตและการโกงมากขึ้น” นายประมนต์ กล่าว


นายประมนต์ กล่าวว่า ACTและภาคีเครือข่ายยังคงมุ่งมั่น ที่จะต่อสู้โดยทำให้กฎหมายและระบบราชการดี ๆ ที่องค์กรและภาคีเครือข่ายร่วมกับรัฐบาลผลักดันมาได้บังคับใช้อย่างจริงจัง เป็นธรรม อย่างไรก็ตาม ต้องอาศัยความจริงใจของรัฐบาลด้วย พร้อมทั้งขอทุกภาคส่วนร่วมด้วยช่วยกันในการต้านโกง ปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ หากทุกฝ่ายช่วยกันได้ เชื่อว่าการทุจริตจะหมดไปจากประเทศในเวลาไม่ช้านี้


ด้านนายวิเชียร กล่าวถึงแนวทางการดำเนินการต่อจากนี้ว่า ก้าวต่อไปองค์กรและภาคีเครือข่ายจะเดินหน้าติดตามหลายประเด็นคอร์รัปชั่นที่ยังไม่บรรลุผล อาทิ การผลักดันเรื่องการปฏิรูปราชการ ตำรวจและกฎหมายที่ล้าสมัย การติดตามโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่สำคัญ การพัฒนาการดำเนินงานต่อต้านคอร์รัปชั่นให้มีประสิทธิภาพในการตรวจสอบที่เข้มข้นมากขึ้น และพัฒนาระบบนิเวศ สร้างค่านิยมต่อต้านคอร์รัปชั่นในเด็ก ในสื่อ ภาคธุรกิจ และประชาสังคมต่อไป


นายมานะ กล่าวว่า ACT พร้อมสานต่อการจัดกิจกรรมรณรงค์วันต่อต้านคอร์รัปชั่นของปี 2561 ที่จัดต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี โดยปีนี้กำหนดจัดงานในวันพฤหัสบดีที่ 6 กันยายนนี้ ที่ภิรัช ฮอลล์ อาคารไบเทคเฟส 2 ไบเทค บางนา ภายใต้ธีมงานคนไทย ตื่นรู้สู้โกง เพื่อกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนของสังคมเกิดความตื่นตัวและลุกขึ้นมาร่วมใจกันต่อต้านคอร์รัปชั่นอย่างเป็นรูปธรรม

 

 

 

 

#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw